หลังเกิดพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง และพายุลูกเห็บพัดถล่มในพื้นที่ ต.บ้านต้อง ต.น้ำจั้น และ ต.ท่ากกแดง อ.เซกา จ.บึงกาฬ ในช่วงเย็นวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา มีบ้านเรือนเสียหายกว่า 1,400 หลังคาเรือน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 2,100 คน
.
โดยล่าสุดนายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผวจ.บึงกาฬ พร้อมด้วย นายวินัย โตเจริญ รอง.ผวจ.บึงกาฬ นายอภิชัย จำปานิล ปภ.จังหวัดบึงกาฬ นายจักรพงศ์ พันธุ์เพ็ง นายอำเภอเซกา พร้อมโดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอเซกา เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทีมเยียวยาจิตใจ จากโรงพยาบาลเซกา ร่วมลงพื้นที่จุดเกิดเหตุวาตภัยและพายุลูกเห็บ ที่ศาลากลางหมู่บ้าน ณ บ้านคำบอน ต.น้ำจั้น อ.เซกา พบปะชาวบ้าน พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจในการช่วยเหลือเยียวยา กับชาวบ้านที่บ้านเรือนได้รับความเสียหาย
.
นายวีระกุล ชาจันดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำจั้นได้รายงานความเสียหายจากพายุลูกเห็บ พบว่ามีหลังคาบ้านเรือนของชาวใน ต.น้ำจั้น ทั้ง 13 หมู่บ้าน ได้รับความเสียหาย 735 หลังคาเรือน รวมมูลค่าความเสียกว่า 3 ล้านบาท แต่งบประมาณของ อบต.ที่สามารถช่วยเหลือประชาชนมีเพียง 3 แสนบาทเท่านั้น เกินความสามารถของ อบต.จึงขอรับงบประมาณจากจังหวัดบึงกาฬ มาสนับสนุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ เช่น สังกะสี กระเบื้อง เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวบ้าน
.
นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผวจ.บึงกาฬ กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้ อบต.จัดซื้ออุปกรณ์ช่วยเหลือชาวบ้านรายที่หลังคาบ้านเรือนเสียหายจนอยู่อาศัยไม่ได้ก่อน และให้ อบต.ทำหนังสือด่วนถึงจังหวัดผ่านอำเภอ เพื่อให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดโอนเงินงบประมาณลงมาช่วยเหลือเป็นการด่วน และเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ให้อบต.กลับไปประชาคมร่วมกับชาวบ้านตามหมู่บ้านอีกครั้งว่า จะให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือแบบใด จะเป็นการจัดซื้ออุปกรณ์ให้ หรือชาวบ้านต้องการรับเป็นเงินสด ให้ ปภ.โอนเข้าบัญชีให้ชาวบ้านจัดซื้ออุปกรณ์เองแล้วเร่งนำกลับมาซ่อมแซม และขอทราบผลการประชาคมภายในวันจันทร์นี้ เพื่อให้จังหวัดได้ตัดสินใจจะโอนเข้าบัญชีชาวบ้านหรือโอนให้ อบต.ไปจัดซื้ออุปกรณ์
.
นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผวจ.บึงกาฬ กล่าวต่อว่า สำหรับแรงงานในการซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชนนั้น ให้ อบต.กับ กำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเน้นชาวบ้านจิตอาสาเป็นหลัก หากไม่เพียงพอให้ขอกำลังสนับสนุนจากอำเภอที่มีกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดนให้ลงมาช่วยซ่อมแซมเพิ่มเติม ส่วนภาคการเกษตรให้ชาวบ้านเร่งสำรวจความเสียหายพืชผลทางการเกษตรของตนเองว่าเสียหายเท่าไร แล้วแจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้าน เพื่อจะได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาสำรวจประเมินความเสียหาย และทำเรื่องจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
.
จากนั้น นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผวจ.บึงกาฬ พร้อมคณะได้ลงพื้นที่สำรวจหลังคาบ้านเรือนของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย และพบปะให้กำลังใจ โดยย้ำกับชาวบ้านทุกคนว่าหน่วยภาครัฐเร่งให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนและเต็มที่ และจากการสำรวจพบว่ามีสวนทุเรียนของนางวีระชน ทาพัต อายุ 45 ปี ชาวบ้าน ม.13 บ้านคำบอนใหม่ เนื้อที่กว่า 10 ไร่ ปลูกทุเรียน มังคุด เงาะ อะโวคาโด ได้รับความเสียหายเช่นกัน ทุเรียนกว่า 50 ต้น ที่ลูกกำลังโต ถูกแรงลมพัดหล่นจากต้นจำนวนมาก
ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล//บึงกาฬ 0628256546