จากนโยบายของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รรท.ผบ.ตร. ,พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมทางออนไลน์ ที่กระทำความผิดทุกรูปแบบ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เร่งทำการสืบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา ตามหมายจับเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการฉ้อโกงหลอกลวงประชาชนในสื่อสังคมออนไลน์ โดยชุดลาดตระเวนออนไลน์ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. ได้ตรวจสอบพบการกระทำความผิดในลักษณะท้าวแชร์ทางออนไลน์ หลอกให้ร่วมลงทุน ให้ผลตอบแทนสูงมาก มีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก ร่วมลงทุนเสียหายหลายล้าน โดยบุคคลดังกล่าวใช้ชื่อเฟซ “Lita Rodphan” โพสต์เชิญชวน ตรวจสอบพบว่า มีหมายจับติดตัว 4 หมายจับ และหลบหนีไปมาอยู่ตลอด โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลากว่า1ปี ในการสืบสวนติดตามจับกุม
.
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 เวลาประมาณ 19.00 น. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ได้สั่งให้
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก สส.บช.น. , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี , พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ต.ทศรัสมิ์ กิติธารา สว.กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวฯ ชุดปฏิบัติการที่ 4 ได้ร่วมกันจับกุมตัว

นางสาวลิตา  อายุ 27 ปี ที่อยู่  ม.9 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรีผู้ต้องหาตามหมายจับจำนวน 4 หมาย ดังนี้
.
1.ศาลอาญามีนบุรี ที่ 1064/2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
2.หมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ 80/2565 ลงวันที่ 28 มกราคม 2565
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกง ”
3.หมายจับศาลอาญามีนบุรี ที่ 156/2565 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงและฉ้อโกงประชาชนและให้กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและโดยทุจริตนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ”
4.หมายจับศาลจังหวัดจันทบุรี ที่ 305/2564 ลงวันที่ 23 ธันวาคม 2564
ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน,ฉ้อโกง,ผู้ใดกระทำความผิดโดยการ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ”
.
โดยจับกุมที่ บริเวณลานจอดรถ หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่ง ตำบลโพสะ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
.
พฤติการณ์ ก่อนเกิดเหตุเมื่อประมาณเดือนต้นเดือนตุลาคม 2564 ขณะที่ผู้เสียหายกำลังพักผ่อนและเล่นเฟซบุ๊กอยู่ที่บ้านพัก ได้เห็น น.ส.ลิตา ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ”Lita Rodphan”ได้โพสเชิญชวนบุคคลทั่วไปที่อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กให้ร่วมลงทุนออมเงินออมทอง
โดยใช้ชื่อทุนว่า”บ้านออมลิตา V.๓ นายทุนราย ๔ วัน”ถ้าหากลงทุน 100,000 บาท จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นเงินจำนวน 137,000 บาททุกวันจำนวน 4 วันโดยแบ่งจ่ายวันละ 34,250
บาท โดยเวลารับดอกเบี้ยคืนในวันรุ่งขึ้นของอีกวัน ต่อมาผู้เสียหายสนใจจึงร่วมลงทุนกับน.ส.ลิตาฯจึงโอนเงินจำนวน 100,000 บาท เข้าบัญชีธนาคาร ชื่อบัญชีน.ส.ลิตา โดยโอนผ่านแอปธนาคาร หลังจากโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ผู้เสียหายได้แจ้งให้น.ส.ลิตาฯทราบและน.ส.ลิตาฯได้บอกว่าจะโอนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้เสียหาย 4 วัน วันละ 34,250 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 137,000 บาท และต่อมาผู้เสียหายได้ร่วมลงทุนกับน.ส.ลิตาฯอีก เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท โดยโอนผ่านแอปของธนาคาร เมื่อโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว ผู้เสียหายได้แจ้งให้น.ส.ลิตาฯทราบ
และน.ส.ลิตาฯได้บอกว่าจะโอนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้ในวันที่ รวมเป็นเงิน 137,000 บาท และเมื่อถึงกำหนดนัดหมายคืนเงินที่ผู้เสียหายลงทุนน.ส.ลิตาฯไม่ยอมคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืน ผู้เสียหายพยายามติดตามทวงถามแต่ได้รับการผัดผ่อนเรื่อยมาและได้รับแจ้งว่าไม่มีเงินจ่ายคืนให้และไม่สามารถติดต่อได้ การกระทำดังกล่าวทำให้ได้รับความเสียหายจึงมาร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับน.ส.ลิตาฯในความผิดฐาน”ฉ้อโกง และ/หรือความผิดที่เกี่ยวข้อง”จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
.
สอบถามผู้ต้องหาให้การรับว่า ตนได้เปิดบ้านวงแชร์ออมเงินออมทองจริง และไม่ได้คืนเงินให้กับผู้เสียหาย แต่อ้างว่าได้เงินไปลงทุนกับอีกท้าวแชร์อีกเจ้า ที่บอกให้ตนไปหาลูกค้ามาให้ และยังบอกว่า ตอนนี้กำลังขายทรัพย์สินเพื่อนำเงินไปคืนกับผู้เสียหาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ ก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาเคยไปทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันในประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันหันมาประกอบอาชีพขายของออนไลน์
.
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ขอฝากเตือนว่า โลกปัจจุบันที่ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงมีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านการเล่นแชร์ออนไลน์ โดยจะมีการโฆษณาชักชวน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมิจฉาชีพจะอ้างว่าได้ผลกำไรสูง ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งมิจฉาชีพมักจะทำให้ตายใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาไว้เพื่อเป็นการหลอกให้ลงทุนสูงขึ้น และบางคนถึงขั้นไปชักชวนญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมาร่วมลงทุนอีกด้วย ซึ่งสุดท้ายมิจฉาชีพมักจะอ้างว่าธุรกิจขาดทุน มีปัญหา จึงไม่สามารถส่งเงินได้ตามปกติ พร้อมทั้งบอกกับผู้เสียหายว่าอย่าเพิ่งแจ้งความ สุดท้ายจะตัดการติดต่อและหลบหนีไปในที่สุด