ชาวไทยทรงดำบ้านลำตะคร้อจัดพิธีแห่เครื่องเซ่นไหว้ศาลเจ้าพ่อเขาเกษ สืบสานประเพณีต่อเนื่องปีที่ 63
เพชรบูรณ์ – เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ที่บ้านลำตะคร้อ หมู่ที่ 4 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ ชาวไทยทรงดำได้ร่วมกันจัดขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีไหว้ศาลเจ้าพ่อเขาเกษ ซึ่งเป็นประเพณีที่ชุมชนสืบสานมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นปีที่ 63 เพื่อกราบไหว้ ขอพร และแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน
ในการนี้ นายทศ แปลงยศ ปราชญ์ชาวบ้าน ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าพิธีในการนำเครื่องสักการะประกอบพิธีกรรมตามแบบแผน พร้อมทั้งได้อัญเชิญเจ้าพ่อเขาเกษขึ้นประดิษฐานยังศาลแห่งใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อความสวยงามและเหมาะสม ก่อนจะดำเนินการรื้อถอนศาลหลังเดิมที่ชำรุด
ภายในงานมีบุคคลสำคัญร่วมเป็นเกียรติหลายราย อาทิ นายฉลวย จันทร์สวยดี ประธานศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านลำตะคร้อ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายสุวรรณ ปั้นปัญญา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 นายสมนึก สโมสร สมาชิก อบต.กันจุ และประชาชนชาวไทยทรงดำร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง โดยมีนายสมศักย์ ดีแป้น ข้าราชการบำนาญ และรองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบึงสามพัน ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการ
ประวัติชุมชนไทยทรงดำบ้านลำตะคร้อหมู่บ้านวัฒนธรรมไทยทรงดำบ้านลำตะคร้อตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 4 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ มีต้นกำเนิดจากการอพยพของชาวไตดำ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ไทยทรงดำ” ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไต ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณแคว้นสิบสองจุไท (บริเวณเมืองลอและเมืองแถน หรือเดียนเบียนฟูในประเทศเวียดนามปัจจุบัน)
กลุ่มไทยทรงดำมีวัฒนธรรมอันโดดเด่น ทั้งในด้านการแต่งกาย ซึ่งนิยมใช้ผ้าสีดำเป็นหลัก ผู้ชายนุ่งโซ่ง ผู้หญิงนุ่งซิ่นลายแตงโม พร้อมลวดลายหัตถกรรมปักผ้าแบบดั้งเดิม มีภาษา อาหาร ประเพณี และการนับถือผีแถนและผีบรรพบุรุษเป็นรากฐานของความเชื่อ
ภายหลังจากการถูกกวาดต้อนในสมัยกรุงธนบุรี ไทยทรงดำได้อพยพเข้ามายังเขตจังหวัดเพชรบุรี และต่อมาได้กระจายถิ่นฐานมายังจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยได้เริ่มตั้งรกรากที่บ้านลำตะคร้อบริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 – 2500 ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์
ปัจจุบัน ชุมชนไทยทรงดำบ้านลำตะคร้อ ประกอบด้วยครอบครัวตระกูลต่าง ๆ อาทิ สุริวงศ์ สร้อยทอง จันทร์สวยดี คาวีทอง ตาลเพชร แก้วเพชร มีดา เลียบใจดี อั้วคนซื่อ เป็นต้น โดยชุมชนยังคงร่วมแรงร่วมใจในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมของตนไว้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านภาษาไต การเลี้ยงผี การเสนบ้านเสนเรือน การแต่งงาน การแต่งกาย อาหารประจำถิ่น และกิจกรรมในงานประเพณีสงกรานต์
ชาวบ้านยังคงยึดมั่นในความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับผู้นำชุมชนอย่างเข้มแข็ง จนเป็นที่ยอมรับในระดับพื้นที่ และเป็นต้นแบบของการรักษาเอกลักษณ์ชาติพันธุ์ไทยทรงดำอย่างมั่นคง