กรมทางหลวง สรุปผลการศึกษาโครงการขยายถนนหล่มสัก–คอนสาร เตรียมเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมสู่ภูมิภาค เสริมศักยภาพการเดินทาง-การขนส่ง
เพชรบูรณ์ – วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมผาเมือง โรงแรมหล่มสักณัฐติรัตน์แกรนด์โฮเต็ล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กรมทางหลวง ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา จัดการประชุมสัมมนาครั้งที่ 3 เพื่อสรุปผลการศึกษา โครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 12 ช่วงอำเภอหล่มสัก–อำเภอคอนสาร โดยมีนางสาวรัชนี บุญญาภิทานนท์ ปลัดอำเภอหล่มสัก เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และภาคประชาชน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นอย่างคับคั่ง
โครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณสามแยกสักหลง จุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 21 และหมายเลข 2466 โดยแนวเส้นทางช่วง 30 กิโลเมตรแรกเป็นถนนตัดใหม่ เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 2216 ผ่านอำเภอน้ำหนาว ไปจนถึงจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 12 ที่สามแยกห้วยสนามทราย จากนั้นแนวเส้นทางจะเลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 12 เดิม จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการที่ กม.448+318 (ระยะทางรวมประมาณ 111.07 กิโลเมตร) ครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล 5 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และขอนแก่น
รูปแบบโครงการ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ตามลักษณะภูมิประเทศ
ช่วงที่ 1: ถนนตัดใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร แบ่งตามลักษณะภูมิประเทศ ทั้งบริเวณพื้นที่ราบ เกาะกลางแบบดินถมปูแผ่นคอนกรีต และพื้นที่ภูเขา เกาะกลางแบบแท่งคอนกรีต พร้อมแยกคันทางต่างระดับ
ช่วงที่ 2: แนวเส้นทางซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 2216 ออกแบบเป็นทางหลวง 4 ช่องจราจร สำหรับพื้นที่ภูเขา และ 6 ช่องจราจร (3 ช่องจราจรต่อทิศทาง) บริเวณชุมชนที่ราบในเขตอำเภอน้ำหนาว
ช่วงที่ 3: แนวเส้นทางซ้อนทับกับทางหลวงหมายเลข 12 เดิม โดยมีการออกแบบพิเศษในพื้นที่ภูเขา (เขาวง) เพื่อรักษาระบบนิเวศ โดยใช้ทั้งแนวทางถนนเดิมปรับปรุงและการก่อสร้างสะพานใหม่ มีช่องจราจรไต่ลาดชัน (Climbing Lane) สำหรับเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง
สำหรับพื้นที่ราบทั่วไป โครงการออกแบบเกาะกลางแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) และมีการวางมาตรการป้องกันเสถียรภาพลาดคันทางอย่างเหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
จุดแยก จุดกลับรถ และจุดพักรถ เสริมความปลอดภัย-อำนวยความสะดวก
โครงการออกแบบทางแยกสำคัญไว้ 5 จุด ประกอบด้วย 4 จุดติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ได้แก่ แยกสักหลง, แยกสาย พช.2034, แยกห้วยสนามทราย และแยกทางเข้า อบต.วังสวาป และอีก 1 จุดเป็นทางแยกไม่มีสัญญาณไฟจราจร รวมถึงมีจุดกลับรถระดับดิน 18 จุด และใต้สะพาน 36 จุด
นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบจุดพักรถไว้ 3 แห่ง ได้แก่
จุดพักรถท่าอิบุญ กม.9+400 (อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์)
จุดพักรถหลักด่าน กม.33+900 (อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์)
จุดพักรถทุ่งพระ กม.92+600 (อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ)
ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมครบทุกด้านโครงการได้ดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างครอบคลุม ทั้งในด้านวิศวกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมจัดทำมาตรการป้องกันและลดผลกระทบ เพื่อให้การดำเนินโครงการมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวงและบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปปรับปรุงรายงานผลการศึกษาให้สมบูรณ์ ก่อนสรุปเสนอผลการดำเนินงานให้ประชาชนได้รับทราบในขั้นตอนถัดไป
ทั้งนี้ กรมทางหลวงมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงปี 2573–2575 และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2576
โครงการนี้ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยยกระดับระบบคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่าง เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ และรองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างยั่งยืน.
ข่าว ชุลีพร ตาลสุข