วัดโรงบ่มฯ รื้อสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่พิพาท สร้างโบสถ์ตามเจตนาศรัทธา ฝ่ายผู้ปฏิบัติธรรมวอนอย่าทำลาย

ล่าสุดช่วงเย็นวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ความคืบหน้ากรณีวัดโรงบ่มสามัคคีธรรม หมู่ที่ 3 ตำบลยางงาม อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ดำเนินการจ้างรถแบคโฮเข้ารื้อถอนอาคารและรูปปั้นภายในสถานปฏิบัติธรรม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตวัด ส่งผลให้มีผู้ปฏิบัติธรรมบางรายได้รับบาดเจ็บจากเศษกระเบื้องและปูนที่หล่นใส่ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พบว่าพระอธิการนุช ฉฬภิญโญ เจ้าอาวาสวัดโรงบ่มสามัคคีธรรม พร้อมด้วยคณะกรรมการวัด ร่วมให้การต้อนรับเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นาเฉลียง ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

พระอธิการนุชฯ ชี้แจงว่า การรื้อถอนอาคารดังกล่าวมีความจำเป็น เพื่อใช้พื้นที่ในการก่อสร้างอุโบสถและกำแพงวัด ตามเจตนารมณ์ของญาติโยมที่ร่วมกันบริจาคปัจจัย โดยได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งมีคำพิพากษาศาลจังหวัดวิเชียรบุรี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2568 ในคดีหมายเลขดำที่ ม.74/2562 และหมายเลขแดงที่ ม.16/2563

ในรายงานการพิจารณาคดีดังกล่าว ระบุว่า ฝ่ายวัดเป็นโจทก์ฟ้องร้องนางสาวณภัสนันท์ แก้วจุฬา กับพวก รวม 2 คน เป็นจำเลย ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่พิพาทเรียบร้อยแล้ว และทรัพย์สินหรือสิ่งปลูกสร้างที่สร้างไว้ถือว่าตกเป็นของวัดโดยชอบด้วยกฎหมาย คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันว่า ไม่ติดใจการบังคับคดีอีกต่อไป

วัดโรงบ่มจึงได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 แจ้งให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ภายใน 3 วัน มิฉะนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเน้นย้ำว่าการกระทำทุกขั้นตอนได้ดำเนินตามกรอบของกฎหมายและความเห็นชอบของประชาคมหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่

ด้านนางบุษบา เหง้าสาลี อายุ 54 ปี ผู้ก่อตั้งโรงเจ “โรงบ่มนาเฉลียง” เผยว่า กลุ่มผู้ปฏิบัติธรรมไม่มีเจตนาครอบครองพื้นที่วัด เพียงอยากขอให้วัดเห็นคุณค่าและไม่ทำลายสิ่งปลูกสร้างที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินอีกต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากคณะเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้ว มีการประชุมร่วมกันภายในศาลาวัดโรงบ่ม โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าร่วม และหลังการประชุมเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้แยกย้ายกลับโดยไม่มีการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด

เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนปมขัดแย้งเรื้อรังระหว่างฝ่ายวัดและกลุ่มผู้ศรัทธาที่ใช้พื้นที่วัดร่วมกันมานาน ซึ่งแม้จะมีข้อยุติทางกฎหมายแล้ว แต่อารมณ์ความรู้สึกและความเชื่อของชุมชนยังคงรอการเยียวยาอย่างรอบด้าน.