อบต.ปากช่อง ไม่รอด! “ขบวนการทุจริตเขย่าท้องถิ่น! ซื้อที่ดินเกินราคาหลายเท่าตัว คุกยาว สมาชิกสภาฯ โดนลากทั้งแผง”

ศาลสั่งจำคุกอดีตนายกฯ 13 ปี 4 เดือน พร้อมลงโทษสมาชิกสภาฯ อีกกว่า 30 ราย คดีทุจริตจัดซื้อที่ดิน เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 81/2567 และคดีหมายเลขแดงที่ อท 4/2568 ซึ่งอัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 ภาค 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากช่อง (อบต.ปากช่อง) พร้อมจำเลยรวม 41 ราย ในข้อหาทุจริตในการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างสำนักงาน อบต.หลังใหม่

จำคุกอดีตนายกฯ กว่า 13 ปี พร้อมโทษปรับ 2.6 แสนศาลพิพากษาว่า จ่าเอก วิชชา ฉัตรวีโรจน์ อดีตนายก อบต.ปากช่อง จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้ลงโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท

จำเลยรายอื่นซึ่งเป็นสมาชิกสภา อบต.ปากช่อง, ปลัด อบต., และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี 8 เดือน ถึง 5 ปี แล้วแต่ระดับความเกี่ยวข้องและบทบาทในกระบวนการ โดยมีบางรายที่ศาลพิจารณาให้รอลงอาญา 2 ปี เนื่องจากไม่เคยมีประวัติต้องโทษมาก่อน และมีบทบาทเพียงการสนับสนุน

ขบวนการทุจริตเริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาสามปีการกระทำผิดดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2558 เมื่อ อบต.ปากช่อง ภายใต้การนำของจำเลยที่ 1 ได้ประกาศแผนพัฒนาสามปี พ.ศ.2558 – 2560 และผลักดันโครงการจัดซื้อที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างสำนักงานหลังใหม่

จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินจากเอกชนในพื้นที่ในราคาสูงถึงไร่ละ 5 ล้านบาท ทั้งที่ราคาประเมินราชการจริงอยู่เพียง 316,020 บาททั้งแปลง และได้จัดทำเอกสารเท็จเกี่ยวกับราคาที่ดินข้างเคียงเพื่อเสนอให้สภาฯ อนุมัติใช้เงินสะสมของ อบต.ในการจัดซื้อ สภาฯ มีมติอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมกว่า 11 ล้านบาท ภายหลัง จำเลยได้นำเรื่องเสนอขออนุมัติต่อสภา อบต. โดยใช้เอกสารและข้อมูลอันเป็นเท็จที่จัดทำขึ้นเอง ส่งผลให้สมาชิกสภาทั้ง 30 กว่าคน มีมติให้จ่ายขาดเงินสะสมจำนวน 11,400,000 บาท ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายโดยมิชอบและสร้างความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง ศาลชี้พฤติการณ์ชัดเจน เป็นกระบวนการทุจริตร่วมกันหลายขั้นตอน

ศาลพิเคราะห์ว่าจำเลยกระทำผิดเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ตั้งแต่การวางแผนซื้อที่ดิน การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบราคาที่ดินโดยมิชอบ การจัดทำเอกสารราคาปลอม ไปจนถึงการนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมสภาและเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต

สำหรับจำเลยที่ 11 ถึง 41 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาฯ ที่ลงมติสนับสนุนการจัดซื้อ ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานในการใช้อำนาจโดยมิชอบ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี 2 เดือน 20 วัน ถึง 3 ปี 4 เดือน และปรับ 15,000 – 30,000 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี

คำพิพากษาครั้งนี้ถือเป็นคดีตัวอย่างในการปราบปรามการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสะท้อนถึงความจำเป็นในการตรวจสอบการใช้งบประมาณอย่างเข้มข้นในทุกระดับ